วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หน้าหลัก

ระบบข้อมูลข่าวสาร
ในระบบโลกาภิวัฒน์   เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทในทุกสาขาอาชีพ  การติดต่อสื่อสาร
ในทุก ๆ  ด้านสามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลาไม่จำกัดด้วยระยะทาง  ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างปราศจากขอบเขต  ดังนั้น  ข้อมูลข่าวสารจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น  ข้อมูลที่ดีต้องมีการจัดการข้อมูลได้รวดเร็ว ง่าย สะดวก  โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
        ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ก็เช่นเดียวกัน  ได้พัฒนาในด้านของความครอบคลุมในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ  มาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยปรับระบบให้ทันกับยุคโลกาภิวัฒน์  โดยเริ่มต้นจัดระบบงานข้อมูลข่าวสารสุขภาพตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวงสาธารณสุข   ตั้งแต่แผนพัฒนาการสาธารณสุข  ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4  (พ.ศ. 2520-2524) จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารสาธารณสุขกลาง  องค์ประกอบของระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพในขณะนั้นมี 3 เรื่อง ได้แก่ ข้อมูลข่าวสารที่ต้องการ  การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และ ระเบียนและรายงาน  จนถึงปัจจุบันในช่วงแผนพัฒนาการสาธารณสุข ฉบับที่  9  (พ.ศ.2545-2549) ได้พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ   โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการจัดทำรายงาน   ได้พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสาธารณสุขจากระบบการส่งรายงานเป็นระบบฐานข้อมูลจากสถานบริการ เป็นรายบุคคล

ความสำคัญของข้อมูลข่าวสาร
        ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ   ในปัจจุบันมีจุดแข็งคือมีความชัดเจน  ลดความซ้ำซ้อน ประหยัดงบประมาณในการจัดพิมพ์ ระเบียนและรายงาน   มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้กว้างขวางยิ่งขึ้น   ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ จึงมีความจำเป็นต่อการระบุปัญหา  ตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลสนับสนุน ควบคุมกำกับและประเมินประสิทธิผล ประสิทธิภาพของงานสาธารณสุขในทุกระดับ  ลักษณะที่ดีของข้อมูลสารสนเทศ
1.    ต้องมีความเที่ยงตรง 
2.    ทันเวลาการใช้งาน
3.    ตรงตามความต้องการ

         ทุกระดับมีความต้องการข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ที่แตกต่างกันไป  จึงมีการจัดระบบ
ข้อมูลข่าวสาร  กำหนดตัวชี้วัดสำหรับการประเมินผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละระดับ  ได้แก่ ระดับนโยบาย ระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ


  
กระทรวงสาธารณสุข  หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเกี่ยวกับระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ  และ
เป็นศูนย์กลางการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศด้านสุขภาพ  เพื่อการบริหารงานสาธารณสุข  กำกับ ติดตามและประเมินผล ตลอดจนการสนับสนุนข้อมูลเพื่อการกำหนดนโยบายและวางแผนด้านสุขภาพ    ได้แก่ กลุ่มข้อมูลข่าวสารสุขภาพ  สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์  หน่วยงานเป้าหมายที่จัดเก็บข้อมูลข่าวสุขภาพ ได้แก่ สถานบริการทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐและเอกชน  ตั้งแต่ระดับจังหวัด  รพศ/รพท.รพช. จนถึงสถานีอนามัย 
        การตัดสินใจว่า  จะจัดเก็บข้อมูลข่าวสารสุขภาพใดหรือไม่  จะต้องมีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง      ข้อมูลที่จะจัดเก็บนั้นต้องมีคุณค่าเพียงพอแก่การจัดเก็บ  วิธีการจัดเก็บ การรายงาน การวิเคราะห์ได้พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมช่วยในการบริหารจัดการ    และใช้ประโยชน์เมื่อได้รับข้อมูลนั้นมา ข้อมูลข่าวสารสุขภาพที่มีอยู่ในระบบจึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องการเท่านั้น 
       
แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
1.    แหล่งปฐมภูมิ (Primary Sources)   ได้แก่ การเก็บข้อมูลด้วยตนเอง อาจมาจาก
-    การจดทะเบียน  เช่น  การแจ้งเกิด  แจ้งตาย  การย้ายที่อยู่ 
-    การแจงนับหรือการสำรวจโดยตรง   เช่น การสำรวจสภาวะสุขภาพของประชาชน 
-    ข้อมูลจากการส่งแบบสอบถามไปให้กรอก เป็นเฉพาะเรื่อง ๆ 
2.    แหล่งทุติยภูมิ  (Secondary  sources)  ได้แก่แหล่งที่ทำการเผยแพร่ข้อมูล  แต่ไม่ได้ทำ
การเก็บรวบรวมในขั้นแรกนั้นด้วยตนเอง   หรือสถานที่ที่ยินยอมให้ข้อมูลแต่ผู้ต้องการใช้   ซึ่งเป็นวิธีที่ทุ่นค่าใช้จ่ายและเวลาได้มาก  หากข้อมูลนั้นมีความครบถ้วนและตรงกับความต้องการ
       
การใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
        การนำข้อมูลที่จัดเก็บบันทึกเอง  หรือนำมาจากแหล่งอื่น มารวบรวมประมวลผล  นำเสนอ  วิเคราะห์และแปรผล   เพื่อนำไปประกอบการวางแผน   กำหนดยุทธศาสตร์  กำหนดตัวชี้วัด  (KPI) กำหนดเป้าหมายในการประเมินผลการดำเนินงานสาธารณสุข และใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมกำกับการดำเนินงาน ข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญช่วยให้ความรู้ (Knowledge)  ช่วยในการตัดสินใจ   (Dicision  Making)   ข้อมูลข่าวสารสุขภาพ  อาจหมายถึงข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์และอนามัย   ประกอบด้วย ข้อมูลสถานะสุขภาพ ข้อมูลสถานบริการ การให้บริการ   ข้อมูลทรัพยากรสุขภาพ เพื่อการกำกับการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ รวมถึงข้อมูลด้านการเงิน การคลัง แต่ถึงอย่างไรความต้องการด้านสุขภาพก็ยังมีข้อมูลประกอบอื่น ๆ  ที่ไม่ใช่มาจากงานสาธารณสุขโดยตรง เช่น ข้อมูลทางด้านประชากร  เศรษฐกิจ  สังคม  และสิ่งแวดล้อม

ประเภทของระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขรวบรวบ  ได้แก่ 
1.    ข้อมูลสถานะสุขภาพ  (Health  status) 
2.    ข้อมูลบริการสุขภาพ (Health services)
3.    ข้อมูลทรัพยากรสุขภาพ  (Health resources)
4.    ข้อมูลตามนโยบายยุทธศาสตร์ (Health strategy support)
5.    ข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม


นางอรพิน  ทรัพย์ล้น
กลุ่มข้อมูลข่าวสารสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์

Last Updated ( Sunday, 02 July 2006 19:26 )

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอตวอย่างในการใช้ละบบข้อมูนข่าวสานหน่อยค่ะ

    ตอบลบ